Welcome to my blog, hope you enjoy reading
RSS

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แหล่งท่องเที่ยวเมืองน่าน

ท่องเที่ยวทั่วน่าน
    น่านมีย่านใจกลางเมืองเก่าที่มีเสน่ห์  เพราะเต็มไปด้วยวัดวาที่สวยงามด้วยศิลปะเฉพาะตัวโดดเด่นอย่าง  วัดภูมินทร์หรือวัดพระธาตุช้างค้ำ รวมทั้งมีหอคำของเจ้าผู้ครองนครน่านที่เดี๋ยวนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม สามารถเดินเท้าเที่ยวชมได้ครบหมด  แถมเขายังย้ายสายไฟระเกะระกะลงใต้ดินยิ่งทำให้บรรยากาศย่านนั้นชวนมอง  แล้วถ้าก่อนจะไปเที่ยววัดอยากไปเดินตลาดเช้า ไปดูว่าผู้คนถิ่นนี้เขาอยู่เขากินอะไรกัน  เดี๋ยวจะพาแวะชมรวมถึงร้านอาหารมื้อเช้าสำหรับเติมพลังเต็มเปี่ยมก่อนออกไปเดินชมเมืองกันด้วย

แต่ก่อนจะออกตระเวนเที่ยวตัวเมืองน่านกัน  ขอชวนให้เปิด Control Panel ของตัวเอง แล้วเปลี่ยน Power Plan จาก High Performance มาเป็น Power Save กันก่อน
มาเที่ยวน่านทั้งที  ต้องทิ้งชีวิตเร่งร้อน เร่งรีบ เร่งด่วน เอาไว้ที่เมืองที่จากมา  แล้วหันมาดื่มด่ำกับการใช้ชีวิตช้า ๆ สบาย ๆ ที่น่านกัน





เพราะน่านเขาเป็นเมืองขนาดกะทัดรัด  ผู้คนไม่หนาแน่น ชีวิตที่นี่ก็เลยยังเดินไปในจังหวะเนิบนาบ  รถจักรยานก็มีเห็นปั่นกันอยู่ทั่วไป





ปั่นกันสบาย ๆ ไม่มีรถบีบแตรไล่  เพราะเมืองน่านเป็นเมืองจักรยาน





แล้วตามแยกไฟแดง ช่วงที่ถนนว่างแสนจะว่าง ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าตรู่หรือยามค่ำ  เราก็จะเห็นคนน่านจอดรถรอไฟแดงกันอย่างสบาย ๆ
(ได้เห็นรถที่กระโจนฝ่าไฟแดงไปเหมือนกัน เห็นแล้วก็ร้อง ฮั่นแน่!!  คนน่านก็ฝ่าไฟแดงเหมือนกันล่ะน่า  แต่ก็ต้องแอบอาย เพราะเป็นรถทะเบียนกรุงเทพฯ นี่ล่ะ 555)




ใครอยากจะปั่นจักรยานเที่ยว ก็ต้องบอกว่า "ได้เลย" เพราะถนนรถราไม่เยอะนัก
หรือบางช่วงที่รถมากหน่อยแต่ความที่ในเมืองมีแยกไฟแดงอยู่ติด ๆ กัน  ก็พลอยทำให้รถที่นี่วิ่งกันช้า ๆ อย่างที่ไม่รู้จะรีบไปไหน  เพราะเดี๋ยวก็เจอแยกไฟแดงอีกแล้ว

บอกว่าแยกไฟแดงเยอะ อย่าเพิ่งรู้สึกเบื่อนึกว่าแดงทีจะนานเหมือนใน กทม. เพราะแต่ละไฟแดงนานสุดที่ให้หยุดรอที่เจอมา แค่ 25 วินาทีเท่านั้นเอง





เอาล่ะเปลี่ยนโหมดกันเรียบร้อย  พร้อมไปเที่ยวกันแล้ว

วัดสำคัญ ๆ น่ามาชมของน่านหลายวัดจะอยู่ใกล้ ๆ กัน ในย่านที่เรียกว่า "ข่วงเมือง" ที่หมายถึงลานใจกลางเมือง  ว่าง่าย ๆ ก็เหมือนตรงย่านสนามหลวงในกรุงเทพ ที่มีทั้งวังและวัดสำคัญหลายวัดตั้งอยู่   เหมาะจะค่อยๆ เดินเที่ยว เข้าวัดโน้นออกวัดนี้

แนะนำว่าควรออกมาเดินเที่ยวกันตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่  ข้อดีก็คือ อากาศยังไม่ร้อน  แสงอ่อน ๆ ยามเช้าก็ถ่ายรูปสวย  เรียกว่าเดินเที่ยวกันได้เพลิดเพลินเบิกบานใจ  ดีกว่าออกมาสายเข้าได้วัดสองวัด แดดก็แรงจนไม่อยากไปไหนต่อเสียแล้ว

มาเริ่มกันที่ วัดภูมินทร์  วัดสำคัญของน่านที่ไม่ว่าใครก็ต้องแวะมาที่วัดนี้กันทั้งนั้น





ตัวสถาปัตยกรรมจตุรมุข ที่เป็นทั้ง โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ พร้อมในหลังเดียวของวัดภูมินทร์ เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของที่นี่ จนครั้งหนึ่งได้รับเลือกให้ไปพิมพ์บนธนบัตร





แต่แหมช่วงหน้าหนาวพระอาทิตย์อ้อมลงใต้ หน้าวัดที่หันไปทางทิศเหนือก็เลยเป็นมุมย้อนแสง  ว่าแล้วก็ขอถ่ายรูปวิหารแบบย้อนแสงแบบนี้มาฝากกันซะเลย





ด้านหน้ามีนาคสองตัวทอดตัวยาว





จนทะลุออกมาด้านหลัง เหมือนจะแบกวิหารทั้งหลังเอาไว้





R0031935
วิหารจตุรมุขก็คือ มีมุขยื่นออกไป 4 ด้าน  ข้างในก็เลยมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หลังหันหลังชนกัน หันหน้าออกไปทั้ง 4 ทิศด้วย





ส่วนที่บอกว่านอกจากเป็นโบสถ์และวิหารในตัวยังเป็นเจดีย์ด้วย  ฐานของเจดีย์คือส่วนที่อยู่ด้านหลังองค์พระ





แล้วก็ไปมียอดของเจดีย์อยู่บนหลังคา  มีฉัตร 5 ชั้นประดับอยู่ด้านบน





นอกจากรูปทรงของอาคารที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว  ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่คาดกันว่าน่าจะวาดขึ้นในช่วงที่มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่เมื่อปี 2410 ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน  ซึ่งช่วงนั้นก็ตรงกับปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5  ก็ยังเป็นภาพจิตรกรรมที่มีลักษณะโดดเด่น แปลกตากว่าที่เคยเห็น ๆ

แปลกที่ว่าก็คือ  ภาพคนที่มักจะเห็นวาดกันตัวจิ๋ว ๆ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นคนสามัญที่ไม่ใช่ตัวเด่นในเรื่อง  แต่ที่นี่วาดภาพของคนธรรมดาในขนาดที่ใหญ่  ส่วนภาพตัวหลักของเรื่องบางภาพแทบจะเป็นขนาดเท่าคนจริงกันเลยทีเดียว





สำหรับเรื่องราวของภาพจิตรกรรมที่นี่  ภาพวาดที่อยู่ตอนบน ด้านหนึ่งจะเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม อีกด้านเป็นตอนปรินิพพาน

เล็ง ๆ ดูแล้วทั้งสองภาพน่าจะมีคติธรรมสอดแทรกให้เราได้ครุ่นคิดต่ออยู่เหมือนกัน  อย่างภาพการแสดงธรรมนี้ ก็มีพระที่พนมมือถือดอกบัวที่บานแล้ว หันไปมองเพื่อนพระที่มัวแต่คร่ำเคร่งอ่านคัมภีร์  ราวกับจะเตือนใจเรา ๆ ที่ชอบเป็นนักอ่าน นักคิดว่า มัวแต่อ่านท่องหนังสือธรรมะ แต่ไม่ได้ลงมือทำสักที ก็ยากจะบรรลุถึงธรรมได้





ส่วนตัวเรื่องที่วาดหลัก ๆ บนผนัง 3 ด้านก็คือ "คันธกุมารชาดก"

อย่างภาพที่เห็นนี้ คันธกุมารที่เป็นลูกกำพร้าถามถึงพ่อจากแม่ที่เห็นคอนหาบอยู่  แม่ก็เลยพาไปชี้ให้ดูรอยเท้าช้าง   แล้วเล่าว่าพอแม่มากินน้ำจากรอยเท้าก็เลยท้อง แล้วคลอดคันธกุมารออกมา (ซะงั้น)

เรื่องของเรื่องก็คือช้างที่มาทิ้งรอยไว้ที่จริงคือพระอินทร์แปลงกายมา





เรื่องราวการผจญภัยในเมืองต่าง ๆ ของคันธกุมารที่วาดไว้ ก็สอดแทรกไปด้วยวิถีชีวิต บ้านเรือน ลักษณะเสื้อผ้าการแต่งกายของชาวน่านในอดีตเอาไว้ให้เราได้เห็น





อย่างภาพเรือกลไฟที่มีฝรั่งตะวันตกนั่งโดยสารมา ก็เหมือนเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของการเข้ามาของชาวตะวันตกในยุคนั้น





ส่วนภาพที่โด่งดังจนห้ามพลาดที่จะมาชมก็คือ ภาพกระซิบรักภาพนี้  ที่มีคำบรรยายเขียนกำกับภาพไว้ว่า "ปู่ม่านย่าม่าน"
เรียกว่า ปู่กับย่า แต่ดูแล้วทำไมดูยังไม่แก่ ที่จริงคำว่า ปู่ย่า จะหมายถึง ผู้ชายผู้หญิงที่พ้นความเป็นเด็กมาแล้ว  ส่วนคำว่า ม่าน เป็นคำล้านนาที่หมายถึง คนพม่า

เพราะงั้นคำว่า ปู่ม่านย่าม่าน ที่ถูกเขียนกำกับไว้ก็หมายถึง หนุ่มสาวชาวพม่า นี่เอง





ในวันหยุดที่วัดจะมีน้อง ๆ ยุวมัคคุเทศก์มาคอยบรรยายประวัติวัด และภาพจิตรกรรมแต่ละด้านให้เราฟัง  เพราะงั้นบนผนังอีกด้านที่เขียนเรื่อง เนมิราชชาดก ที่พระอินทร์สั่งให้พระวิษณุกรรม พาพระเนมิราช ไปทัวร์สวรรค์กับนรก

ก็ลองให้น้องเขาเล่าให้ฟังว่า ที่ต้องไปตกนรกขุมนั้น ๆ เพราะไปทำเหตุอะไรกันมา  ตอนที่ไปดูเป็นน้องคนเล็กสุดที่เล่าได้เจื้อยแจ้วน่าเอ็นดูจนได้รับเสียงปรบมือเบา ๆ กันเกรียวกราว (อยู่ในวิหารน่ะ คนเลยไม่กล้าตบมือส่งเสียงดัง)





พูดถึงเรื่องนรกแล้ว  ด้านข้างวิหารยังมีสถูปเจดีย์อีกองค์หนึ่ง





ชื่อว่า สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก





หลายคนคงคุ้น ๆ กับเรื่องพระมาลัย  ที่ว่ามีฤทธิ์ไปเที่ยวดูนรกสวรรค์ได้  แล้วท่านก็เอามาบอกสอนผู้คนว่าทำบุญทำกุศลอย่างไรถึงจะได้ไปสู่สวรรค์ หรือไปทำบาปอกุศลอะไรที่ทำให้ตกนรกชั้นนั้นชั้นนี้

เรื่องพระมาลัยมีเล่าถึงอยู่ในวรรณกรรมต่าง ๆ ในบ้านเราหลายต่อหลายสำนวน อย่างใน ไตรภูมิพระร่วง หรือ พระมาลัยคำหลวง ที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อความเชื่อในเรื่องการทำบุญเพื่อไปสวรรค์ หรือการทำชั่วจะต้องตกนรก ของคนไทยเรา

รวมไปถึงความเชื่อที่ทำบุญก็เพื่อหวังผลให้ได้เกิดพบศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ที่เชื่อกันว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป





แต่พอเห็นรูปปั้นพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรกของที่นี่  ดูไปแล้วไม่เห็นว่ามีใครหันไปหาพระเลยสักคนทั้งที่พระมาแล้ว  มัวแต่ไหว้อะไรไม่รู้รอบไปหมดยกเว้นพระ

ก็ชวนให้คิดว่าคนปั้นรูปอาจจะบอกเตือนเราอยู่ว่า  ศาสนาของพระสมณโคดมก็มีอยู่ต่อหน้าต่อตาแท้ ๆ  แต่ไม่สนใจ  กลับหันหลังให้แล้วมัวแต่ไปรอศาสนาของพระศรีอาริย์ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่  ระหว่างที่รอนี่ก็ไม่รู้จะต้องตกนรกไปอีกคนละกี่รอบ





ก่อนเข้าไปชมในวิหารที่วัดภูมินทร์ เจอศิลปินตัวน้อยกำลังวาดภาพบนเสื้ออยู่





กลับออกมาอีกทีภาพก็วาดเสร็จ กำลังจะลงวันที่วาดพอดี
ใครอยากจะอุดหนุนงานฝีมือที่มีคุณค่าเพราะได้เห็นตั้งแต่ตอนลงมือทำแบบนี้ก็แวะไปกันได้ตรงด้านหลังวิหาร





จากลานหน้าวัดภูมินทร์มองออกไปก็จะเป็นวัดพระธาตุช้างค้ำ  เดินข้ามถนนไปชมกันต่อได้เลย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

facebook